ในเอกสารจดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ 3 ของ พระบรมราชา (มัง)

ในจดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ 3 ตอนที่ 1 พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ได้กล่าวถึงพระบรมราชา (มัง) ในจดหมายเหตุ 2 ฉบับด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

จดหมายเหตุฉบับที่ 1

ฉะบับที่ ๑ ตราถึงเจ้าเมืองมุกดาหาร ตอบเรื่องรับผลเร่ว ขี้ผึ้ง ป่านใบ ตามจำนวนเกณฑ์ และชี้แจงข้อราชการบ้างเล็กน้อย หน้า ๑๔-๑๘ ความว่า

หนังสือเจ้าพระยาจักรีฯ มาเถิงพระจันทสุริยวงศ์เจ้าเมืองมุกดาหาร ด้วยบอกหนังสือแต่งให้ท้าวอุปฮาด ท้าวจันท์ชมภู ท้าวเพิษ คุมผลเร่วจำนวนปีมะโรง จัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๗๕) หนัก ๔๘ หาบ กับขี้ผึ้ง ๒ หาบ ป่านใบ ๒ หาบ จำนวนเกณฑ์ลงไปทูลเกล้าฯ ถวาย แลว่าได้แต่งท้าวเพี้ยไปสืบราชการทางเมืองมหาชัย เมืองชุมพร เมืองพ้อง เมืองพลานเนือง ๆ มิได้ขาด ราชการสงบอยู่ กับว่าเพี้ยเมืองคุก ท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ซึ่งไปตกค้างอยู่ต่างเมืองพาครอบครัวกลับคืนมา เป็นคนมาแต่เมืองมหาชัยชายหญิงใหญ่น้อย ๒๑๕ คน มาแต่เมืองชุมพรชายหญิงใหญ่น้อย ๖๙ คน มาแต่เมืองปาศักดิ์ เมืองอุบลชายหญิงใหญ่น้อย ๑๗ คน (รวมเป็น) ๓๕๑ คน แล้ว ณ เดือนยี่ข้างขึ้นได้แต่งให้ท้าวเพี้ยไปกวาดเอาครอบครัวเมืองมุกดาหารซึ่งตกค้างอยู่แขวงเมืองชุมพร เมืองพ้อง เมืองพลาน ได้มาอีกชายหญิงใหญ่น้อย ๗๐๖ คน เข้ากัน ๑๐๕๗ คน กับว่า ณ เดือน ๔ ข้างขึ้น ได้แต่งให้ท้าวสุวอ เพี้ยเชียงเหนือ ไปฟังราชการ ณ เมืองนครพนม ได้ความว่า ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ญวนมีชื่อนายไพร่ ๓๐ คน กับพวกเมืองมหาชัยนายไพร่ ๑๐๐ เศษ ลงมาเถิงท่าแขก ตั้งค่ายยาวด้านละ ๑๕ วา สูง ๘ ศอก แต่พวกญวนมาเถิงประมาณครู่หนึ่ง แล้วกลับคืนไปเสีย ยังประจำค่ายอยู่แต่พวกเมืองมหาชัย ได้ความว่าญวนให้มาตั้งอยู่ แลว่า ณ ปีมะโรง จัตวาศก อาณาประชาราษฏรทำไร่นาเสีย ๒ ส่วน ได้ผลส่วนหนึ่ง เรียกข้าวขึ้นฉางได้แต่ ๖๐๐๐ ถัง ได้ส่งไปเมืองนครพนม ๑๕๐๐ ถัง จ่ายข้าหลวงไทยลาวไปมาราชการ ๑๓๐๐ ถัง แจกจ่ายครอบครัวที่ได้คืนมา ๒๖๐๐ ถัง ทุกวันนี้ราษฏรได้รับพระราชทานข้าวเจือกลอยเจือมันอยู่ทุกวันนั้น ได้นำเอาหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา พาท้าวอุปหาต ท้าวจันท์ชมภู ท้าวเพี้ย เข้าเฝ้าทูลละอองฯ ทรงพระกรุณาดำรัสถามด้วยข้อราชการเมืองมหาชัย ท้าวอุปหาตให้กราบทูลพระกรุณาว่า ลูกค้าเมืองมหาชัยมาค้าขายพูดกันว่าญวนให้ลาวต่อเรือที่นำพลิกนาเมืองมหาชัย ๖ ลำ ว่าจะบรรทุกครัวพระบรมมาท่าแขก จึงทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ซึ่งพระจันทสุริยวงศ์ให้ท้าวเพี้ยขึ้นไปฟังราชการที่เมืองนครพนม ได้ความว่า ญวนประมาณ ๓๐ กับลาว ๑๐๐ ลงมาตั้งอยู่ที่ท่าแขกแต่ญวนนั้นกลับคืนไปเสียแล้ว ความทั้งนี้เป็นความคิดญวนด้วยญวนจะให้พระบรมพาครอบครัวมาตั้งอยู่ท่าแขก พระบรมได้ให้ท้าวทัง พระนคร ท้าวเพี้ย พาครอบครัวมาแต่ก่อนหลายพวกแล้ว นายทัพนายกองซึ่งรักษาเมืองนครพนมไม่ให้ท้าวทัง พระนคร ท้าวเพี้ย ตั้งอยู่ฟากฝั่งข้างโน้น ท้าวทัง พระนคร ท้าวเพี้ย พาครอบครัวข้ามมาอยู่ฟากข้างเมืองนครพนมสิ้น ครั้นญวนจะให้พระบรมพาครอบครัวมาก็กลัวนายทัพนายกองฝ่ายเราจะไม่ให้ตั้งอยู่ท่าแขก ญวนกับลาวเมืองมหาชัยจึงเอาผู้คนมามากจะมาดูลู่ดูทางที่นายทัพนายกองซึ่งอยู่รักษาเมืองนครพนม ครั้นมาได้พูดจาและได้หนังสือนายทัพนายกองไปก็จะเอาความไปบอกกล่าวคิดอ่านกัน ญวนรู้ความที่นายทัพนายกองฝ่ายเราแล้วจะให้พระบรมพาครอบครัวมาหรือจะแต่งผู้คนมาหลอกลวงประการใดอีกก็ยังหามีหนังสือบอกพระสุนทรราชวงศานายทัพนายกองลงไปไม่ และที่เมืองนครพนมก็ได้โปรดมีตราให้ขุนภักดีภูมินทร์นายกอง กองลาวเวียงจันท์ถือขึ้นไปแต่ก่อน ถ้าญวนจะมาพูดจาด้วยครอบครัวเขตต์แดนประการใดสุดแต่ฝ่ายเราไม่ให้เขตต์แดนของเราถ่ายเดียว ถ้าญวนพาพระบรมและครอบครัวมาพูดจาแต่โดยดีการไม่ควรจะวิวาทก่อนก็อย่าเพ่อวิวาท ให้นายทัพนายกองทำดีไว้แต่ปากบอกข้อราชการลงไป ณ กรุงเทพ ฯ ถ้าญวนพาพระบรมครอบครัวยกเป็นกระบวนทัพมาการเถิงจะวิวาทรบพุ่งกันก็ให้นายทัพนายกองต้านทานไว้ บอกข้อราชการไปเถิงหัวเมืองที่ใกล้และเมืองนครราชสีมา จะได้รีบยกรี้พลไปโดยเร็ว ช่วยกันรบพุ่งรักษาเขตต์แดนไว้กว่ากองทัพกรุงเทพ ฯ จะขึ้นไปเถิง ความแจ้งอยู่ในท้องตราซึ่งโปรดขึ้นมาเถิงนายทัพนายกองเมืองนครพนมแต่ก่อนทุกประการแล้ว แต่ซึ่งอุปหาตให้กราบทูลพระกรุณาว่า ญวนให้ลาวต่อเรืออยู่ที่เมืองมหาชัยว่า จะบรรทุกครัวพวกเมืองนครมาตั้งอยู่ท่าแขกนั้น แต่ก่อนที่เมืองมหาชัยก็หาเคยต่อเรือไม่ ถ้าแม้ญวนให้ต่อเรือจริงเห็นจะคิดราชการ ซึ่งว่าจะบรรทุกครัวเมืองนครพนมมานั้นความหาจริงไม่ และฝ่ายพระจันทสุริยวงศ์ อุปหาต ท้าวเพี้ย ก็มิได้คิดอ่านแต่งผู้คนไปสืบสวนเอาความให้แน่ไม่ การรักษาเขตต์แดนบ้านเมืองจะประมาทแก่ราชการนั้นไม่ได้ ให้พระจันทสุริยวงศ์ อุปหาต ท้าวเพี้ย คิดอ่านแต่งคนเล็ดรอดไปสืบให้รู้ความว่าญวนให้ต่อเรืออยู่กี่แห่ง กี่ตำบล จะเป็นเรือกี่ลำ ญวนจะคิดอ่านประการใดให้สืบสวนเอาความให้แน่นอนจงได้ อย่าให้มีความประมาทไว้ใจแก่ราชการกับให้แต่งกองลาดตระเวนสืบสวนราชการอยู่อย่าให้ขาด ถ้าได้ความประการใดก็ให้บอกไปเถิงเมืองนครพนมและหัวเมืองที่ใกล้ให้รู้ราชการเถิงกัน จะได้ช่วยกันคิดอ่านตริตรองราชการกับให้เร่งรีบบอกลงไป ณ กรุงเทพ ฯ โดยเร็วจะได้รู้ข้อราชการ ซึ่งว่าเกลี้ยกล่อมครอบครัวและแต่งคนไปขับไล่เอาครอบครัวกลับคืนมาบ้านเมืองในปีมะโรง จัตวาศก ได้เปนครัว ๑๐๐๐ เศษนั้นก็เป็นความชอบอยู่แล้ว แต่ครอบครัวเมืองมุกดาหารยังกระจัดพลัดพรายไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเป็นอันมาก ให้พระจันทสุริยวงศ์ อุปหาต ท้าวเพี้ย คิดอ่านเกลี้ยกล่อมเอาครอบครัวกลับคืนมาคงบ้านคงเมืองให้สิ้น จะได้เป็นกำลังรี้พลของเจ้าเมืองท้าวเพี้ยทั้งปวงสืบไปภายหน้า กับซึ่งว่าได้จัดแจงส่งเข้าไปเมืองนครพนม ๑๕๐๐ ถังนั้น นายทัพนายกองจะได้จับจ่ายราชการและผลเร่ว สีผึ้ง ป่านใบ จำนวนเกณฑ์ซึ่งส่งลงไปนั้น ได้ให้ท้าวอุปหาตท้าวเพี้ยคุมไปส่ง เจ้าพนักงานชั่งได้ผลเร่วจำนวนปีเถาะ ๑ หาบ ๙๓ ชั่ง ปีมะโรง ๔๓ หาบ ๕๓ ชั่ง ๔๕ หาบ ๔๖ ชั่ง สีผึ้งหนัก ๑ หาบ ๖๒ ชั่ง ป่านหนัก ๒ หาบ ๑ ชั่ง รับไว้แล้ว และผลเร่วจำนวนปีมะโรงยังค้าง ๖ หาบ ๔๗ ชั่ง สีผึ้งค้าง ๒ หาบ ๘ ชั่ง ป่านค้าง ๙๙ ชั่งนั้น ให้พระจันทสุริยวงศ์ ท้าวเพี้ย จัดส่งลงไปให้ครบจำนวนอย่าให้ขาดค้างล่วงงวดล่วงปีต่อไปได้เป็นอันขาด

หนังสือมา ณ วันศุกร เดือน ๗ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็งนักษัตรเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๗๖) ร่างตรานี้ท่านปลายเชือกทำ ครั้น ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เพลาบ่ายฯ พณฯ สมุหนายกว่าราชการ ณ จวน หลวงราชเสนาได้เอาร่างตรานี้อ่านกราบเรียน สั่งให้ตกแทรกลงบ้าง วงกาเสียบ้าง แล้วสั่งให้มีไปตามร่างนี้เถิด วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็ง เบญจศก ได้ส่งตรานี้ให้ท้าวอุปหาตรับไป[6]

จดหมายเหตุฉบับที่ 11

ฉะบับที่ ๑๑ หนังสืออุปฮาดเมืองหลวงมูเลง มาถึงเจ้าเมืองหลวงมูเลง พระนครพนม ท้าววรบุตร (ต้นฉะบับเป็นอักษรไทยเหนือ เจ้าอุปราช เจ้าเหม็น แปล) หน้า ๔๙ -๕๐ ความว่า

หนังสืออุปฮาดผู้น้อง อุทิศสวัสดีมาเถิงเจ้าพี่เจ้าน้องและตาลุงทั้งปวงได้แจ้ง ข้าอยู่ข้านี้ก็อยู่ด้วยบุญด้วยคุณแก้วทั้งสามพระรัตนตรัยและบารมีเจ้าฟ้าสามกว้านหลวง ซึ่งว่าบ้านเมืองของเรานี้ใครก็ไม่ได้เคืองทำอะไรแก่กัน หากเป็นบาปบ้านเวรเมืองหากจำพรากจากกัน ข้าก็ทุกข์ยากไม่มีใครข้าก็ขออาศัยพึ่งบุญเจ้าพี่เจ้าน้อง อย่าให้ข้องขัดสน คนทั้งปวงก็หากได้ลงมาสู่พระราชสมภารสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ข้างนี้หมดแล้ว ข้าอยู่โน่นบ่าวไพร่ยังมีมากน้อยเท่าใด ก็ขอไว้อยู่กับข้าทำราชการกับเจ้าฟ้าสามกว้านหลวงไปก่อน สุดแต่บุญเราเจ้าข้าทั้งหลายเถิด ข้อหนึ่งรายข้าวเรากับข้าวเจ้าพระนคร เจ้าวรบุตรมาจัดแจงให้ศรีลามวัดกับบิดา นายกองรักษาไว้มีข้าว ๔๑ ยุ้งนั้น แต่ข้ามาเถิงข้าวยังมีแต่ ๔ ยุ้ง ข้าแบ่งปันกับพวกอยู่บ้านกินก็หมดแล้ว อย่าว่าข้าไม่ให้ไม่ปันกันกิน ข้าก็ไม่ได้ว่าบ่าวไพร่ข้างโน้นข้างนี้ แม้นว่าคนอยู่กับข้างนี้จะไปหาข้างโน้นข้าก็ไม่ว่าอะไร และทิตด้วงกับตาพรมขึ้นมากับเจ้าพระนคร เขาเจ็บไข้ลงไปไม่ได้ ข้าไม่ได้เกาะกุมไว้ ถ้าที่พระนครเป็นบ้านเป็นเมืองปกติดีแล้วเมื่อใด ข้าไม่ว่าจะเอาของพี่ของน้องดอก และนางออนให้ลงไปหานั้นข้าไม่ว่าอะไร นางออนก็ลงไปไม่ได้ นางออนก็ยังไม่มาเถิงข้า ยังอยู่ข้างใต้โน้น เอาแต่ใจนางออนจะอยู่ข้างนี้ก็ตามจะไปข้างโน้นก็ตาม

หนังสือมา ณ วันเสาร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ทุติยาษาฒ ปีมะเมียฉอศก หนังสืออุปฮาดเมืองหลวงมูเลง มาเถิงเจ้าเมืองหลวงมูเลง พระนคร ท้าววรบุตร ซึ่งมาตั้งอยู่ ณ บ้านอุเทน[7]

ใกล้เคียง

พระบรมราชา (มัง) พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระบรมราชานุญาต พระบรมราชาที่ 7 พระบรมราชา (เจ้าพระยาญาติ)